Thailand Sport Magazine Sponsored

ค่าของคนในกีฬาและธุรกิจ – สยามรัฐ

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit

หลังการแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียว กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ให้รางวัลนักกีฬาที่ได้เหรียญทอง 12 ล้านบาท เหรียญเงิน 7.2 ล้านบาท เหรียญทองแดง 4.8 ล้านบาท ขณะที่พาราลิมปิกเกมส์ได้น้อยกว่า คือ เหรียญทอง 7.2 ล้านบาท เหรียญเงิน 4.8 ล้านบาท เหรียญทองแดง 2.5 ล้านบาท

ในโอลิมปิก ไทยได้ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง ในพาราลิมปิกเกมส์ได้ 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง

มีการเรียกร้องมานานเรื่องการตอบแทนที่ไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะในส่วนของ “รัฐ” ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ไม่มีใครประท้วงภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ที่มอบรางวัลให้อีกรวมแล้วมากกว่า แต่รัฐก็ให้อีกหลายอย่างที่สร้างความมั่นคงในชีวิต เช่น หน้าที่การงาน เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ

ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า สาเหตุของรางวัลของภาครัฐที่มอบให้ “คนพิการ” ทำไมจึงน้อยกว่า “คนไม่พิการ” ทั้งๆ ที่คนทั้งสองประเภทต่างก็เป็น “คนปกติ” เหมือนกันและเท่าเทียมกันในแง่คุณค่าความเป็นคน ต่างกันเพียงว่า คนหนึ่งไม่มี “ครบ” เหมือนคนทั่วไปเท่านั้น โดยเฉพาะทางร่างกาย แต่ใจเกินร้อย มุ่งมั่น หมั่นเพียรฝึกซ้อมจนสามารถเอาชนะคู่แข่งจากทั่วโลกได้

แม้ว่าพวกเขาอาจมี “ไม่ครบ” แต่ทุกคนก็มีพ่อแม่ พี่น้อง มีครอบครัว มีสามี-ภรรยา มีลูก บางคนนอกจากรับผิดชอบตัวเองและครอบครัว ยังรับผิดชอบพ่อแม่ ญาติพี่น้องอีกด้วย ความมุ่งมั่นในการฝึกซ้อมเพื่อชัยชนะก็มีแรงจูงใจในรางวัลตอบแทนอย่างสำคัญ

จึง “ไม่เป็นธรรม” ที่ตอบแทนพวกเขาไม่เท่าเทียมกับคนไม่พิการ เพราะพวกเขาก็ให้ความสุขและความภูมิใจแก่คนไทยทั้งชาติไม่น้อยไปกว่าผู้ได้เหรียญในโอลิมปิกธรรมดา

สังคมไทยมี “ทุนทางสังคม” ที่สูงไม่น้อย โดยทั่วไปมีความเอื้ออาทร ยอมรับคนพิการ ไม่ได้ทอดทิ้ง แต่ช่วยเหลือดูแล แม่บางคนดูแลลูกที่ป่วยติดเตียง “เป็นผัก” นานหลายสิบปี จนแม่เสียชีวิตก่อน และอีกหลายคนที่ดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตเป็นสิบๆ ปี ด้วยความรักและอดทน

คนพิการจำนวนมากที่ยังช่วยตัวเองได้ก็ไม่ได้เป็นภาระให้ครอบครัวหรือชุมชน อย่างคนพิการทางสายตา และอื่นๆ เมื่อมีโอกาส พวกเขาก็พัฒนาตัวเองในวิชาชีพต่างๆ และหลายคนในการกีฬา

ธรรมชาติให้สิ่งทดแทนคนที่มี “ไม่ครบ” ตามธรรมชาติ พวกเขาปรับตัวปรับใจได้จนคิดว่า ความพิการไม่เป็นปัญหา กลายเป็นเรื่อง “ปกติ” อย่าง นิก วูจีชิช ชาวออสเตรเลีย ที่ไม่มีแขน มีขาเล็กนิดเดียวไม่กี่นิ้ว แต่เขาก็เอาชนะความพิการ กลายเป็น “คนปกติ” ยิ่งกว่าปกติ เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลก “อย่ายอมแพ้ แม้มีปัญหาอุปสรรคในชีวิต ไม่ว่าทางร่างกาย จิตใจ สังคม”

นิกมีภรรยาสาวสวยลูกครึ่งอเมริกัน-ญี่ปุ่น มีลูกน่ารัก 4 คน สมบูรณ์ทุกคน หรือคิดถึงเฮเลน เคลเลอร์ ที่เกิดมาตาบอด หูหนวก ใบ้ แต่เธอก็สามารถ “สื่อสาร” กับผู้คนได้ กลายเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ รณรงค์เพื่อสิทธิคนคนพิการ แรงงาน คนด้อยโอกาส เธอมีอายุยืนยาวถึง 88 ปี

พาราลิมปิกเกมส์ที่โตเกียวที่ผ่านมา มีคนติดตามชมการแข่งขันจากทั่วโลกมากกว่าทุกครั้ง คงเนื่องจากเพราะโควิดที่ทำให้คนอยู่บ้าน คนไทยก็ส่งกำลังใจไปเชียร์นักกีฬาไทยกันมาก ในโซเชียลมีเดียมีการพูดถึงแรงบันดาลใจและความสุขที่นักกีฬาไทยได้ให้กับผู้คนวันนี้ที่มีทุกข์แสนสาหัสเพราะสถานการณ์โควิด

พาราลิมปิกเกมส์เกิดขึ้นเมื่อปี 1960 ที่กรุงโรม หลังกีฬาโอลิมปิก 6 วัน แปลว่า โลกเพิ่งยอมรับเรื่องนี้เมื่อ 60 ปีมานี้เอง เช่นเดียวกับการให้สตรีมีสิทธิ์แข่งขันวิ่งไกลกว่า 800 เมตรได้เมื่อปี 1980 ที่มอสโกก็ให้วิ่งได้เพียง 1,500 เมตร มาราธอนหญิงในโอลิมปิกเริ่มเมื่อปี 1984 ที่ลอสแอนเจลิส

ความไม่เท่าเทียม “ชาย-หญิง” มีอยู่ในกีฬาเกือบทุกประเภท มีการณรงค์มาหลายสิบปีให้มีรางวัลเท่ากันระหว่างชายและหญิง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังห่างกันมาก ทั้งฟุตบอล บาสเกตบอล กอล์ฟ เทนนิส แม้ว่าการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลมทั้งสี่จะมีรางวัลเท่ากันสำหรับชายและหญิงแล้ว

แต่ในระดับรองลงไปทั้งหมดก็ยังแตกต่างกัน ในระดับมาสเตอร์ส ผู้ชนะเลิศชายได้ 1 ล้านเหรียญ หญิงได้ครึ่งล้าน ในกีฬากอล์ฟยิ่งเห็นชัด การแข่งขันกอลฟ์ชายรางวัลสูงมาก ผู้ชนะรายการเมเจอร์ได้ประมาณ 2 ล้านเหรียญ เมเจอร์ผู้หญิงได้ประมาณห้าแสนถึง 1 ล้านเหรียญ ยิ่งระดับทั่วไปยิ่งได้น้อยกว่า

อย่างไรก็ดี เงินรางวัลเป็นเพียงส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมาจากสปอนเซอร์ธุรกิจที่สนับสนุน ยิ่งชนะมาก โด่งดังมากก็ยิ่งได้สปอนเซอร์มาก จนบางคนรับไม่ไหว อย่างกรณีไมเคิล เฟลป์ส และ ยูเซน โบลต์ หรือนักกีฬาระดับ “ตำนาน” ทั้งหลาย

เพราะที่สุดกีฬาก็เป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องดีมานด์ ซัพพลาย คนดูมาก สนใจมาก ค่าตัวก็แพงอย่าง แมสซี โรนัลโด ในกีฬาฟุตบอล ที่มี “ราคาค่าตัว” ไม่ได้ต่างหรือยิ่งกว่าดาราฮอลลีวูด

เรื่องนักกีฬาคนพิการคงมีแรงจูงใจจากภาคธุรกิจน้อยกว่า แต่รัฐไม่ใช่ธุรกิจ รัฐมีหน้าที่ให้การส่งเสริมสนับสนุนบนฐานของ “รัฐธรรมนูญ” ที่คนไทยทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน มีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองเสมอภาคกัน

ถ้าหากคนพิการได้รับโอกาส ได้รับการส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง พวกเขาจะพึ่งตนเองได้มากขึ้น ได้อาชีพที่เหมาะสม และเป็น “ทรัพยากรบุคคล” ที่มีคุณค่าในสังคม นอกจากจะไม่เป็นภาระแล้ว ยังจะเป็นพลังอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมกับคนอื่นๆ “โลกนี้มิอยู่ด้วย มณีเดียวนา ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง” (อังคาร กัลยาณพงศ์)

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.