ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นักกีฬาจากทีม ROC รับเหรียญทองจากการแข่งขันยิมนาสติกทีมชาย

รัสเซียถูกห้ามลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก แล้วทำไมนักกีฬาจากรัสเซียยังเข้าร่วมการแข่งขันโตเกียวเกมส์ได้ ส่วนนักกีฬาจากไต้หวันก็ต้องใช้ชื่อว่า จีนไทเป (Chinese Taipei) ห้ามใช้ชื่อว่า ไต้หวัน นอกจากนี้ยังมีทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัย (Refugee Olympic Team) ที่เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ทีมเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

ประเทศรัสเซียถูกห้ามเข้าแข่งขัน หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬาย้อนกลับไปหลายปี การใช้สารต้องห้าม หรือสารกระตุ้น ในวงการกีฬาหมายถึง การใช้สารหรือยาที่ถูกห้ามใช้ และทำให้นักกีฬาทำผลงานได้ดีขึ้น

สิ่งที่ทำให้เรื่องอื้อฉาวนี้ดูรุนแรงมากขึ้นก็คือ รัสเซียในฐานะประเทศ ถูกพบว่า มีความผิดในการสนับสนุนการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา หมายความว่า รัฐบาลรัสเซียมีส่วนในการวางแผนช่วยให้นักกีฬาใช้สารต้องห้ามผิดกฎหมายเพื่อให้ทำผลงานได้ดีขึ้น

ทว่า ทางการรัสเซียปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการสนับสนุนการใช้สารกระตุ้นในหมู่นักกีฬาดังกล่าว

เรื่องนี้ทำให้นักกีฬาจากรัสเซียถูกห้ามลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ในเมืองพยองชางของเกาหลีใต้ ในขณะที่ก่อนหน้านั้นยังได้ถูกห้ามเข้าแข่งขันกรีฑาในฐานะประเทศตั้งแต่ปี 2015

ในปี 2019 องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency–WADA) ได้ห้ามรัสเซียเข้าร่วมการแข่งขันโตเกียวเกมส์จากการที่รัสเซียปกปิดการตรวจสอบการใช้สารกระตุ้น

ดังนั้นชื่อทีมรัสเซีย ธงชาติ และเพลงชาติของรัสเซีย จึงไม่ได้รับอนุญาตให้ปรากฏอยู่ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ปี 2020 และกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่งของจีนปี 2022 และถ้ารัสเซียผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกปี 2022 ในกาตาร์ ก็จะต้องเข้าแข่งขันโดยใช้ชื่ออื่นแทน เหมือนกับผู้เข้าแข่งขันจากรัสเซียในโอลิมปิกครั้งนี้

แต่นักกีฬาจากรัสเซียยังคงเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกโตเกียว 2020 ได้ เพราะคณะกรรมการโอลิมปิกรัสเซีย (Russian Olympic Committee) หรือที่เรียกชื่อย่อว่า ROC ซึ่งไม่ใช่ประเทศรัสเซีย

ROC คืออะไร

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นักกีฬาฟันดาบจากทีม ROC แข่งขันกันเอง ในการชิงเหรียญทองประเภทเซเบอร์ บุคคลหญิง

นักกีฬารวม 335 คนเป็นตัวแทนของคณะกรรมการโอลิมปิกรัสเซียในการแข่งขันโอลิมปิกในกรุงโตเกียวครั้งนี้ นักกีฬาทั้งหมดของทีม ROC คือนักกีฬาที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในเรื่องอื้อฉาวการใช้สารกระตุ้น

พวกเขาได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขันได้ ตราบใดที่พวกเขาเข้าแข่งขันในชื่ออื่น และหากพวกเขาได้รับเหรียญทอง ก็จะไม่มีการเปิดเพลงชาติรัสเซียและเชิญธงชาติรัสเซีย

นอกจากนี้ยังมีกฎที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่นักกีฬาสามารถสวมใส่ได้ด้วย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นักกีฬาวอลเลย์บอลทีม ROC

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee—IOC) ระบุว่า ตราสัญลักษณ์ของทีม ROC ต้องแยกออกจากธงชาติรัสเซีย และอุปกรณ์หรือชุดต่าง ๆ ที่นักกีฬาสวมใส่ต้องมีตัวอักษร ROC แทนที่จะใช้ชื่อเต็มว่า คณะกรรมการโอลิมปิกรัสเซีย

ถ้าคำว่า “รัสเซีย” ปรากฏอยู่บนชุดหรืออุปกรณ์ชิ้นใด ต้องมีคำว่า “นักกีฬาเป็นกลาง” ปรากฏอยู่ด้วย แต่เครื่องแบบทางการของนักกีฬาสามารถใช้สีธงชาติรัสเซียได้

รัสเซียจะได้รับอนุญาตให้เข้าแข่งขันอีกครั้งหรือไม่

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ทีม ROC ระหว่างการแข่งขันโปโลน้ำในกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020

รัสเซียจะได้รับอนุญาตให้เข้าแข่งขันได้อีกครั้งเมื่อมีการยกเลิกการห้าม และรัสเซียเคารพและปฏิบัติตามกฎที่ถูกบอกให้ปฏิบัติ รวมถึง การจ่ายค่าปรับให้กับองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก

การห้ามรัสเซียเข้าแข่งขันมีกำหนดจะสิ้นสุดลงในเดือน ธ.ค. 2022

ขณะนี้รัสเซียไม่มีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพหรือเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกใด ๆ ระหว่างที่ถูกห้ามเข้าแข่งขันอยู่

ไต้หวัน ใช้ชื่อ จีนไทเป

ครั้งก่อนหน้านี้ที่กรุงโตเกียวได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 1964 ไต้หวันยังสามารถลงแข่งขันโดยใช้ชื่อและธงชาติของตัวเองได้ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ในการแข่งขันโอลิมปิก นักกีฬาจากไต้หวันใช้ชื่อทีมว่า “จีนไทเป” (Chinese Taipei) ซึ่งไม่ได้เป็นชื่อประเทศที่มีอยู่จริง ส่วนธงที่ใช้มีรูปดวงอาทิตย์สีขาวบนวงกลมสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่นำมาจากธงชาติของไต้หวัน และยังมีรูปสัญลักษณ์ห่วงโอลิมปิก 5 ห่วง ล้อมด้วยกรอบที่เป็นรูปดอกพลัมหรือดอกบ๊วย ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติของไต้หวัน

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

นักกีฬาจากไต้หวัน ระหว่างการแข่งขันยกน้ำหนักในโอลิมปิก โตเกียว 2020

เว็บไซต์เอบีซีของออสเตรเลีย ระบุว่า การที่เป็นเช่นนี้สืบเนื่องมาจากการตกลงกันเมื่อหลายสิบปีก่อน จีน (ชื่อทางการคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน) ไม่ถือว่าไต้หวัน (ชื่อทางการว่า สาธารณรัฐจีน) เป็นประเทศ จึงได้มีการตกลงกันตามมติที่รู้จักกันในชื่อว่า มตินาโงย่า (Nagoya Resolution) ซึ่งได้อนุญาตให้นักกีฬาจากไต้หวันเข้าแข่งขันในรายการกีฬาระหว่างประเทศได้ แต่ห้ามใช้ชื่อของตัวเอง ห้ามใช้ธงชาติและเพลงชาติของตัวเอง

เอ็ดเวิร์ด หลิง-เหวิน เทา ผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำเมืองบริสเบน ซึ่งทำหน้าที่เป็นสถานกงสุล กล่าวกับเอบีซีว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เจ็บปวดใจ

“ผมคงจะบอกว่า มีคนจำนวนมากในไต้หวันที่เชื่อว่า เราควรลงแข่งขันในอีกชื่อหนึ่ง ชื่อที่เป็นทางการของเราหรือแค่ใช้ชื่อ ‘ไต้หวัน’ ก็ได้” เขากล่าวกับเอบีซี

แต่เขากล่าวเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับการเจรจากับ IOC “เราไม่พอใจ แต่นั่นคือความจริงในขณะนี้” เขากล่าว

ในปี 1971 องค์การสหประชาชาติยอมรับ สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าเป็นผู้แทนเพียงหนึ่งเดียวของจีน และไม่ยอมรับสาธารณรัฐจีน หรือ ไต้หวัน ทำให้รัฐบาลจีนอ้างเรื่องนี้ในการทำให้ไต้หวันต้องออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง นับตั้งแต่การเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลกจนถึงการส่งตัวแทนนางงามเข้าประกวดในเวทีนานาชาติอีกด้วย

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

นักกีฬาทีมจีนไทเป จากไต้หวัน คว้าเหรียญเงิน จากกีฬายิงธนู

ในปี 1979 IOC ยอมรับสาธารณรัฐจีนอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า ไต้หวันยังคงสามารถลงแข่งขันได้ ถ้ายอมใช้ชื่อและธงอื่นในการแข่งขัน ตอนแรกไต้หวันปฏิเสธ และไม่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 1976 และ 1980

แต่ในปี 1981 ไต้หวันก็จำใจยอมใช้คำว่า “จีนไทเป” ไม่ใช่แค่ในการแข่งกีฬาโอลิมปิกเท่านั้น แต่ยังใช้ในการแข่งขันรายการกีฬาระหว่างประเทศอื่น ๆ ด้วย

ผู้ลี้ภัยเข้าแข่งขันเป็นครั้งที่ 2

ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงโตเกียวมีนักกีฬามากกว่า 11,000 คน จาก 206 ประเทศ แต่มีหนึ่งทีมในการแข่งขันที่มีนักกีฬามาจาก 11 ประเทศ นั่นก็คือ ทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัย (Refugee Olympic Team) โดยนักกีฬาเหล่านี้กำลังลี้ภัยอยู่ในประเทศเจ้าภาพ 13 ประเทศ

นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่ทีมผู้ลี้ภัยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก ครั้งแรกคือการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนในนครริโอ เดอ จาเนโร ของบราซิล ในปี 2016

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัย เดินเข้าสนามในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงโตเกียว

นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มขึ้นจาก 10 คน เป็น 29 คนในครั้งนี้ โดยในปีนี้จะเป็นปีแรกที่มีนักกีฬาผู้ลี้ภัยคนพิการเข้าแข่งขันในทีมพาราลิมปิกผู้ลี้ภัย (Refugee Paralympic Team) ด้วย

ผู้ลี้ภัย หมายถึง ผู้ที่ถูกบังคับหรือต้องออกจากประเทศของตัวเอง เพื่อหลบหนีสงคราม การไล่ล่าสังหาร หรือภัยธรรมชาติ แต่ละปีมีผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกต้องหนีออกจากประเทศของตัวเอง และไปใช้ชีวิตในที่อื่นที่ปลอดภัยเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

นักกีฬา 29 คนที่ลงแข่งขันในนามทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัยมาจากหลายประเทศรวมถึง ซีเรีย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, ซูดานใต้, เอริเทรีย, เวเนซุเอลา, อิหร่าน, อัฟกานิสถาน และแคเมอรูน

หลายประเทศเหล่านี้เผชิญกับความขัดแย้งหรือสงครามกลางเมือง ทำให้นักกีฬาเหล่านี้เผชิญอันตรายมากเกินไปในการเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด

ทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัยลงแข่งขันใน 12 ชนิดกีฬา รวมถึง กรีฑา, แบดมินตัน, มวย, เรือแคนู, จักรยาน, ยูโด, คาราเต้, เทควันโด, ยิงปีน, ว่ายน้ำ, ยกน้ำหนัก และมวยปล้ำ

ในปี 2015 IOC ได้ตั้งกองทุนฉุกเฉินผู้ลี้ภัย (Refugee Emergency Fund) ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือในการนำผู้ลี้ภัยเข้าแข่งขันกีฬา นอกจากนี้ยังได้สร้างทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัยขึ้น และให้ผู้ลี้ภัยเข้ารวมการแข่งขันเป็นครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิกเกมที่จัดขึ้นในนครริโอ เดอ จาเนโร ปี 2016