Thailand Sport Magazine Sponsored
Categories: ว่ายน้ำ

189 ชีวิตเด็กไทยไม่ได้กลับไปเรียนอีก เพราะ..จมน้ำ อุบัติการณ์สูงสุดในช่วงหน้าร้อน

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

189 ชีวิตเด็กไทยไม่ได้กลับไปเรียนอีก เพราะ..จมน้ำ อุบัติการณ์สูงสุดในช่วงหน้าร้อน

               การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของเด็กไทย ซึ่งสูงกว่าทุกสาเหตุทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2555 – 2564)  โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำไปแล้วถึง 7,374 คน เฉลี่ยปีละ 737 คน หรือวันละ 2 คน  โดยเฉพาะในช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคม เป็นเดือนที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เพราะตรงกับช่วงปิดเทอมและช่วงฤดูร้อน เฉลี่ยเพียง 3 เดือน มีเด็กตกน้ำ จมน้ำ เสียชีวิตถึง 241 คน หรือวันละเกือบ 3 คน  โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 – 2564)  มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์และอยู่บ้านนานขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนการปิดภาคการศึกษาระยะยาว ส่งผลให้การเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กในปี 2564 เพิ่มสูงมากที่สุดในรอบ 10 ปี

               นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่  7 จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยสถานการณ์จากข้อมูลที่สอดคล้องกับภาพรวมทั้งประเทศ โดยเฉพาะช่วงที่อากาศร้อนในเดือนเมษายน ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ ส่งผลให้เด็กๆชักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติในชุมชน    จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี  สำหรับสถานการณ์จมน้ำเสียชีวิตในเขตสุขภาพที่ 7 ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์ พบการเสียชีวิตจากการจมน้ำในช่วง 5 ปี ย้อนหลัง (ปี 2559 – 2563) พบว่ามีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำที่จังหวัดร้อยเอ็ด 64 คน ขอนแก่น 102 คน มหาสารคาม 46 คน และจังหวัดกาฬสินธุ์ 60 คน ทั้งหมดนี้ เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และส่วนมากเสียชีวิตภายนอกบ้าน จากแหล่งน้ำทางการเกษตร หนองน้ำรอบชุมชน ซึ่งแหล่งน้ำส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดการให้เกิดความปลอดภัย เช่น การสร้างรั้ว การติดป้ายเตือน การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ รวมทั้งส่วนใหญ่ผู้ประสบเหตุขาดทักษะเอาชีวิตรอดเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีการช่วยเหลือที่ไม่ถูกต้อง

               จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำ และขอความร่วมมือเครือข่ายสื่อมวลชนให้ช่วยกันรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลในวงกว้าง ได้แก่ สถานีวิทยุ หอกระจายข่าว เสียงตามสายในชุมชน เพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับชุมชน โดยมุ่งหวังให้ครอบครัว (บ้าน) เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปลอดภัยทางน้ำ ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ได้แก่ การจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงเช่นการสร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำที่หาได้ง่าย อาทิ ไม้ไผ่ เชือก แกลลอนพลาสติกมีฝาปิด และในยามฉุกเฉินให้ทุกคนยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” (ตะโกน: ให้ผู้ใหญ่ช่วย, โยน: วัสดุที่ลอยน้ำได้, ยื่น: ไม้ กิ่งไม้ ให้คนตกน้ำจับ)  ซึ่งควรต้องเน้นย้ำและสอนเด็กเสมอ เครือข่ายด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษาควรร่วมมือกัน สนับสนุนให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ได้ฝึกทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) สนับสนุนให้เด็กมีโอกาสเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ซึ่งจะครอบคลุมเนื้อหาความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำ และทักษะการช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำ และสามารถเรียนรู้จากสื่อ AR ป้องกันการจมน้ำเทคโนโลยีโลกเสมือน (Augmented Reality: AR) โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่เวปไซต์ กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค    และฝากเตือนถึงผู้ปกครองว่าการป้องกันไม่ให้เด็กจมน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด“อย่าปล่อยเด็กไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง เด็กเล็กต้องอยู่ในระยะที่มือเอื้อมถึงและคว้าถึง”   ผู้ปกครองร่วมสร้างพื้นที่เล่นปลอดภัย (playpen) แก่เด็ก กรณีในครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ขอให้ใช้คอกกั้นทุกราย  การทำกิจกรรมทางน้ำหรือการเดินทางทางน้ำ ให้ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยทางน้ำ และขอให้ใส่เสื้อชูชีพหรือใช้อุปกรณ์ลอยน้ำทุกครั้ง

               สำหรับวิธีช่วยเหลือเด็กจมน้ำที่ถูกวิธี  มีดังนี้  เมื่อช่วยเด็กขึ้นมาจากน้ำและเด็กไม่หายใจ ควรตรวจดูการอุดกั้นของช่องทางเดินหายใจในปากในจมูกก่อน หากไม่มีอะไรอุดกั้นให้รีบเป่าปากในทันทีเพื่อช่วยหายใจ เพราะเด็กที่จมน้ำหมดสติ เนื่องจากขาดอากาศหายใจ  และหากไม่แน่ใจว่ามีชีพจรให้นวดหัวใจ กดหน้าอกให้ยุบลงไปประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอก ความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที  สลับกับการเป่าปากในอัตราส่วน 30:2 หรือจำง่ายๆ คือ เป่าปาก 2 ครั้ง  ปั๊มหัวใจ 30 ครั้ง ทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าเด็กจะรู้สึกตัวหรือจนกว่าจะมีทีมแพทย์มาช่วยเหลือ ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

**************************************

ข้อมูลจาก :   กองป้องกันการบาดเจ็บ / กลุ่มโรคไม่ติดต่อ สคร.7 ขอนแก่น

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น

วันที่ 5 เมษายน 2565


Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.