Thailand Sport Magazine Sponsored
Categories: ว่ายน้ำ

ปักหมุด 3 เมือง สปป.ลาว “เวียงจันทน์-วังเวียง-หลวงพระบาง” ด้วยเส้นทางรถไฟจีน-ลาว – ผู้จัดการออนไลน์

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored


เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา เป็นวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ กับ “เส้นทางรถไฟจีน-ลาว” ที่ต้องถือว่าเป็นข่าวใหญ่ระดับภูมิภาค เพราะเป็นโครงการที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ การเดินทาง และการท่องเที่ยวได้อย่างมาก

เส้นทางรถไฟจีน-ลาว เชื่อมต่อระหว่าง “นครคุนหมิง” เมืองเอกของมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และ “นครหลวงเวียงจันทน์” แห่ง สาธารณรัฐประชาธิไปไตยประชาชนลาว ซึ่งทางรถไฟสายนี้ำเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt & Road Initiative – BRI) ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนริเริ่มขึ้นในปี 2013


ทางรถไฟจีน-ลาว เริ่มต้นก่อสร้างเดือนธันวาคม 2016 มีระยะทางรวม 1,035 กิโลเมตร ความเร็วในการวิ่งบริการสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลาเดินทางราว 10 ชั่วโมง (นับรวมพิธีการทางศุลกากร) วิ่งผ่านเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวหลายแห่ง ตั้งแต่นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ผ่านเมืองผู่เอ่อร์ และด่านโม๋ฮันทางตอนใต้ของจีน เข้าสู่ลาวบริเวณด่านบ่อเต็น ผ่านอุดมไซ หลวงพระบาง วังเวียง จนถึงนครหลวงเวียงจันทน์

สำหรับรถไฟขบวนขนส่งสินค้าบนเส้นทางนี้ มีการเปิดวิ่งระหว่างจีน-ลาวแล้ว แต่ขบวนรถไฟโดยสาร ยังเปิดวิ่งเฉพาะในลาวเท่านั้น โดยสถานีรถไฟที่เปิดบริการมีเพียง 6 แห่ง คือ นครหลวงเวียงจันทน์, โพนโฮง, วังเวียง, หลวงพระบาง, เมืองไซ และบ่อเต็น


ขบวนรถไฟโดยสาร ในเบื้องต้น เปิดวิ่งวันละ 2 ขบวน (ไป-กลับ) เส้นทางนครหลวงเวียงจันทน์-บ่อเต็น (ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง) รถออกจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์เวลา 08.00 น. เที่ยวกลับ ออกจากสถานีบ่อเต็นเวลา 12.00 น. ส่วนเส้นทางนครหลวงเวียงจันทน์-หลวงพระบาง (ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง) รถออกจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์เวลา 15.44 น. เที่ยวกลับ ออกจากสถานีหลวงพระบางเวลา 18.16 น.

โดยระยะแรกยังไม่มีการจองตั๋วผ่านระบบออนไลน์หรือโทรจอง จะเปิดขายตั๋วที่สถานีวันละ 3 รอบ คือ เวลา 07.00-10.00 น. เวลา 14.00-16.00 น. และ เวลา 20.00-20.40 น. สามารถซื้อตั๋วก่อนรถออกจากสถานีอย่างน้อย 1 ชั่วโมง (สามารถซื้อตั๋วล่วงหน้าได้ 3 วัน) แนะนำให้ไปถึงสถานีก่อนรถไฟออก 1 ชั่วโมง โดยจะต้องผ่านการแสกนกระเป๋า และตรวจเช็คเอกสาร ซึ่งจะต้องมีตั๋วโดยสาร บัตรประชาชน และ หนังสือรับรองการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม


ราคาค่าโดยสาร อ้างอิงจากหนังสือแจ้งการของกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว เลขที่ 24016/ยทข.หก. ลงวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกรมทางรถไฟ และประกาศใช้ค่าโดยสารนี้เป็นการชั่วคราวในระยะแรกที่เริ่มให้บริการ โดยรายละเอียดค่าโดยสารเที่ยวเดียวของขบวนรถไฟความเร็วปานกลางในช่วงสถานีสำคัญ มีดังต่อไปนี้

นครหลวงเวียงจันทน์-บ่อเต็น (ปลายทาง)
ตู้โดยสารชั้น 1 คนละ 294 หยวน หรือ 529,000 กีบ หรือ 1,510 บาท
ตู้โดยสารชั้น 2 คนละ 185 หยวน หรือ 333,000 กีบ หรือ 950 บาท
ค่าโดยสารรถไฟความเร็วธรรมดา คนละ 132 หยวน หรือ 238,000 กีบ หรือ 680 บาท

นครหลวงเวียงจันทน์-หลวงพระบาง
ตู้โดยสารชั้น 1 คนละ 174 หยวน หรือ 313,000 กีบ หรือ 895 บาท
ตู้โดยสารชั้น 2 คนละ 110 หยวน หรือ 198,000 กีบ หรือ 565 บาท
ค่าโดยสารรถไฟความเร็วธรรมดา คนละ 78 หยวน หรือ 140,000 กีบ หรือ 400 บาท


นครหลวงเวียงจันทน์-วังเวียง
ตู้โดยสารชั้น 1 คนละ 91 หยวน หรือ 164,000 กีบ หรือ 465 บาท
ตู้โดยสารชั้น 2 คนละ 57 หยวน หรือ 103,000 กีบ หรือ 295 บาท
ค่าโดยสารรถไฟความเร็วธรรมดา คนละ 41 หยวน หรือ 74,000 กีบ หรือ 210 บาท

(อัตราค่าโดยสารที่ยกตัวอย่างมาอิงตามอัตราแลกเปลี่ยนตามราคาตลาดในลาวที่ 1,800 กีบต่อ 1 หยวน และ 350 กีบต่อ 1 บาท)

สำหรับ 3 เมืองท่องเที่ยวสำคัญใน สปป.ลาว ที่หลายๆ คนรู้จักกันดีก็คือ “เวียงจันทน์-วังเวียง-หลวงพระบาง” ซึ่งก็เป็นเส้นทางผ่านของรถไฟสายจีน-ลาว โดยมีสถานีอยู่ทั้งสามเมืองนี้ด้วยเช่นกัน มาลองดูว่าแต่ละเมืองมีแหล่งท่องเที่ยวไหนที่เด่นๆ กันบ้าง


เวียงจันทน์
นครหลวงของ สปป.ลาว ตัวสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ห่างจากประตูชัยไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร นับว่าไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวย่านใจกลางเมืองมากนัก

“เวียงจันทน์” มีสถานที่ท่องเที่ยว วัดวาอาราม และโบราณสถานต่างๆ ชวนให้เที่ยวชมหลายที่ เริ่มจาก “พระธาตุหลวงเวียงจันทน์” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองที่เป็นที่เคารพศรัทธาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวลาว แต่เดิมพระธาตุองค์นี้เป็นพระธาตุองค์เล็กๆ ชื่อว่า องค์พระธาตุศรีธรรมาโศก เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือในยุคอาณาจักรศรีโคตรบอง กระทั่งในปี พ.ศ. 2109 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงสร้างพระธาตุหลวงใหม่ครอบองค์พระธาตุเดิม และให้ชื่อว่า “พระธาตุเจดีย์โลกจุฬามณี” แต่ชาวลาวนิยมเรียกว่า “พระธาตุหลวง”

ด้านหน้าพระธาตุหลวงเวียงจันทน์จะเป็น ”พระราชานุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช” ผู้ทรงเป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ลาว


“หอพระแก้ว” ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ของลาวมาก่อน และเมื่ออดีตเคยเป็นที่ประดิษฐานองค์พระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ก่อนที่จะถูกอัญเชิญมาประทับที่ประเทศไทย หอพระแก้วทุกวันนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมวัตถุโบราณล้ำค่ามากมายให้ได้ชมกัน ไม่ว่าจะเป็นนาค 7 เศียร พระพุทธรูปเก่าแก่ ศิลาจารึก กลองสำริด และโบราณวัตถุอื่นๆ อีกมากมาย และที่ระเบียงรอบหอพระแก้วยังมีพระพุทธรูปโบราณหลายองค์ตั้งเรียงรายอยู่รอบระเบียงที่ล้วนแล้วแต่มีความงดงาม

“วัดสีสะเกด” หรือ “วัดสะตะสะหัสสาราม” (วัดแสน) เป็นวัดที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงสร้างขึ้น และได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทั้งองค์เล็กและองค์ใหญ่ประดิษฐานไว้รอบพระระเบียงและในพระอุโบสถไว้นับแสนองค์ จนเป็นที่มาของชื่อวัดแสน ด้านในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง มีภาพจิตกรรมบนฝาผนังเขียนเรื่องทศชาติชาดกให้ได้ชม บนผาฝนังยังมีช่องเล็กๆ ที่บรรจุพระพุทธรูปองค์เล็กๆ นับพันองค์ไว้ และที่ด้านนอกพระวิหาร มีระเบียงคดล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่จำนวนมาก และที่ฝาผนังก็เจาะเป็นช่องเล็กๆ บรรจุพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ไว้มากมายเช่นกัน


“ประตูชัย” เป็นซุ้มประตูขนาดใหญ่ ตั้งเด่นเป็นสง่าเห็นได้แต่ไกล สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2512 เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงประชาชนชาวลาวผู้เสียสละชีวิตในสงครามก่อนหน้าการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ ประตูชัยมีลักษณะสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากประตูชัยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่ก็ยังมีลักษณะสถาปัตยกรรมรายละเอียดอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของศิลปะแบบล้านช้างให้เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นยอดปราสาทบนประตู ลวดลายปูนปั้นเทพนม ภาพเรื่องราวมหากาพย์รามายณะแบบปูนปั้นใต้ซุ้มประตูโค้ง แล้วยังมีบันไดวนให้เดินขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์เวียงจันทน์ในมุมสูง ส่วนรอบๆ ประตูชัยก็เป็นลานกว้าง มีน้ำพุ และเป็นที่พักผ่อนหย่อยใจของชาวลาวและนักท่องเที่ยว


วังเวียง
เมืองท่องเที่ยวชื่อดังที่รู้จักกันในฉายา “กุ้ยหลินเมืองลาว” สถานีรถไฟวังเวียงอยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร จากย่านใจกลางเมืองซึ่งเป็นแหล่งรวมของที่พักนักท่องเที่ยว หากนั่งรถไฟสายจีน-ลาว มาจากนครหลวงเวียงจันทน์ ก็จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จะมาถึงเมืองวังเวียงแห่งนี้

บรรยากาศของวังเวียงนั้นล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติสวยงาม โดยเฉพาะทิวทัศน์ภูเขาและหน้าผาหินปูนที่ตั้งเรียงรายเป็นแนวยาว มีแม่น้ำซองไหลผ่าน ทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนที่นักท่องเที่ยวนิยมเป็นอย่างมาก


จุดท่องเที่ยวเด่นๆ ในวังเวียง ได้แก่ “บลูลากูน” เป็นลำธารธรรมชาติที่ไหลออกมาจากภูเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งของถ้ำพูคำ สายน้ำที่ไหลออกมาจากถ้ำในวันนี้เป็นสีเขียวอมฟ้าสดใสเย็นเฉียบ ราวกับเป็นสระว่ายน้ำธรรมชาติอันงดงาม แถมยังมีความเหมาะเจาะตรงที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ริมน้ำ กิ่งไม้ยื่นยาวออกไปกลางลำธาร นักท่องเที่ยวจึงนิยมท้าความกล้าด้วยการปีนต้นไม้ขึ้นไปแล้วกระโดดเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน


“ถ้ำจัง” เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต แต่ทุกคนจะต้องเดินขึ้นบันไดแสนชัน 147 ขั้น เพื่อไปสู่ปากทางเข้าถ้ำ ถ้ำแห่งนี้แม้ไม่ใหญ่โตแต่ก็มีหินงอกหินย้อยสวยงามให้ได้ชม อีกทั้งทางเดินภายในถ้ำยังสะดวกสามารถเดินชมถ้ำได้อยากสะดวกสบาย เมื่อเดินเข้าไปภายในยังมีจุดชมวิวทิวทัศน์ของเมืองวังเวียงได้จากด้านบนอีกด้วย

อีกกิจกรรมยอดฮิตในวังเวียงก็คือ การล่องห่วงยาง หรือพายคายัค ล่องแม่น้ำซอง รวมถึงการขึ้นบอลลูนไปชมวิวเมืองวังเวียงในมุมสูง


หลวงพระบาง
เมืองมรดกโลกอันแสนงดงามของ สปป.ลาว นั่งรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์มาถึงที่นี่ใช้เวลาเกือบๆ 2 ชั่วโมง สถานีหลวงพระบางตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร สามารถเหมารถจากที่สถานีเข้าไปยังตัวเมืองได้ และตัวสถานีมีความงดงามเป็นพิเศษ เนื่องจากมีสถาปัตยกรรมในแบบล้านช้างมาผสมผสาน และยังเป็นสถานีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ และสถานีบ่อเต็น


ไฮไลท์แหล่งท่องเที่ยวเด่นๆ ของหลวงพระบาง ได้แก่ “วัดเชียงทอง” ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างที่งดงามที่สุดในดินแดนลาว เมื่อเข้ามาในวัดเชียงทองจะได้เห็นสถาปัตยกรรมงดงามล้ำค่ามากมาย มี “สิม” หรือ “โบสถ์” ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสิมแบบล้านช้างสมบูรณ์ที่สุด ภายในประดิษฐาน “พระองค์หลวง” อันงดงาม และที่ผนังสิมด้านหลัง (ด้านนอก) ประดับลาย “ดอกดวง” หรือลายกระจกสี ทำเป็นรูป “ต้นทอง” ท่ามกลางสัตว์หลายชนิดกับตำนานนิทานพื้นบ้าน และที่มาของชื่อเมือง “เชียงทอง” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของหลวงพระบาง ภายในวัดยังมี “หอพระพุทธไสยาสน์” ด้านในประดิษฐานองค์พระนอนอายุเก่าแก่กว่า 400 ปี และที่ผนังสิมด้านนอกงดงามด้วยการประดับกระจกสีเล่าเรื่องราวคติสอนใจจากนิทานพื้นบ้าน และภาพวิถีชีวิตชาวหลวงพระบางในอดีต แล้วก็มีช่องหน้าต่างที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้เป็นจุดถ่ายภาพที่ระลึก


“พระธาตุพูสี” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์สีทองอร่ามคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2347 เป็นเหมือนหลักเมืองหลวงพระบาง เมื่อเดินขึ้นมาถึงบนยอดเขา ก็จะได้เห็นองค์พระธาตุสีทองงดงามอร่ามตาตั้งเด่นเป็นสง่าให้ได้กราบสักการะ แล้วก็ยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ให้ได้กราบขอพร อีกทั้งด้านบนยอดพูสีแห่งนี้ ยังเป็นจุดชมวิวขึ้นชื่อที่เมื่อมองไปแบบไกลสุดลูกหูลูกตา จะได้เห็นวิวทิวทัศน์เมืองหลวงพระบาง วิวแม่น้ำโขง แม่น้ำคาน เคียงคู่บ้านเมืองอันสงบงาม


“หอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง” (พระราชวังหลวงเดิม) ด้าในมี “พระบาง” ชื่อเต็มคือ “พระบางพุทธลาวรรณ” ประดิษฐานอยู่ภายใน “หอหลวงพระบาง” ที่มีสถาปัตยกรรมแบบศิลปกรรมล้านช้างอันงดงาม ทาด้วยสีทองเหลืองงามอร่ามตา พระบางเป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อันเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง แล้วยังเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่สุดของสปป.ลาว ซึ่งทุกๆ ปีในช่วงสงกรานต์ (บุญปีใหม่ลาว) จะมีการนำพระบางออกมาให้ชาวลาวและนักท่องเที่ยวได้ร่วมสรงน้ำกัน


สำหรับเส้นทางรถไฟจีน-ลาว เมื่อเปิดให้บริการขบวนรถโดยสารอย่างเต็มที่แล้ว เชื่อว่าน่าจะเป็นอีกเส้นทางท่องเที่ยวยอดฮิตอีกเส้นหนึ่ง เนื่องจากเส้นทางรถไฟนี้ผ่านเมืองท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง และสามารถร่นระยะเวลาในการเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างมาก สำหรับใครที่อยากเดินทางไปเที่ยวตามเส้นทางนี้ คงต้องอดใจรออีกพักใหญ่ กว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย และเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศตามปกติ

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.