Thailand Sport Magazine Sponsored
Categories: ว่ายน้ำ

‘ซิ่งไปสอน!’ฝ่าดงถิ่นดอย ‘บี-ปารวี โมรา’จากแม่ค้าออนไลน์ สู่ ‘วิถีครูอาสา’ – เดลีนีวส์

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

ในแต่ละทริปก็อาจต้องเจอกับปัญหา เจอกับอุปสรรคบ้าง ถามว่ากลัวไหม? ก็มีบ้าง แต่พอคิดถึงจุดมุ่งหมายที่เราจะไป คิดถึงเด็ก ๆ ทำให้มีความกล้าเยอะกว่าความกลัว“  …เสียงจาก “บี-ปารวี โมรา” ย้ำเรื่องนี้กับเราไว้ ทั้งนี้ เธอคนนี้เป็นที่รู้จักดีในโลกโซเชียล ในฐานะ “ครูอาสา” ที่เดินทางบุกป่าฝ่าดงไปสอนหนังสือ กับนำอุปกรณ์การเรียนและของเล่นไปให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกล ด้วย “พาหนะคู่ใจ-มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ” คันเล็ก ๆ ซึ่งนอกจากความมุ่งมั่นในฐานะครูอาสาแล้ว เรื่องราวชีวิตของครูอาสาสาวคนนี้ก็น่าสนใจ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับชีวิตของเธอคนนี้กัน…

“บี-ปารวี โมรา” วัย 29 ปี สาวสถาปัตย์ นักท่องเที่ยวขาลุยสายแบ็คแพ็คเกอร์ และผู้ชื่นชอบการขี่รถมอเตอร์ไซค์ ได้เล่าย้อนถึงเส้นทางชีวิตของเธอ ก่อนก้าวสู่ “วิถีชีวิตครูอาสา” ให้เราฟังว่า… เธอมีอาชีพหลักคือการขายของโบราณและขายหมวกที่ออกแบบโลโก้เองทางออนไลน์ โดยเงินรายได้จากการขายของนั้น ส่วนหนึ่งเธอจะจัดสรรแยกเอาไว้เพื่อเก็บไว้ใช้เป็นทุนในการเดินทาง และซื้อสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำไปแจกให้กับเด็ก ๆ ซึ่งช่วงแรก ๆ ที่เริ่มทำกิจกรรมแบบนี้ เธอใช้ทุนของตัวเองทั้งหมด จนระยะหลัง ๆ มีแฟนคลับที่ติดตาม เฟซบุ๊กเพจ “การเดินทางของปารวี” ที่ใจดีอยากจะร่วมช่วยเหลือเด็ก ๆ เช่นกัน จึงได้ช่วยสนับสนุนสิ่งของเครื่องใช้และอุปกรณ์การเรียนมาให้ เพื่อให้เธอช่วยนำไปมอบให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ที่เธอเดินทางไปช่วยเหลือ ทำให้สามารถแบ่งเบาภาระในเรื่องทุนรอนลงไปได้มาก แถมยังทำให้เธอสามารถช่วยเหลือเด็ก ๆ ได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ เจ้าตัวได้เล่าย้อนอดีตถึงความเป็นมาของตัวเธอให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า… เธอเป็นคนอีสาน เกิดที่ จ.อุดรธานี โดยเป็นลูกของ คุณพ่อ-ร.ต.อ.สุทโธ โมรา ที่เป็นคน จ.อุดรธานี กับ คุณแม่-รัชฎาภรณ์ พหลทัพ ซึ่งเป็นคน จ.หนองบัวลำภู พอโตขึ้นมา เธอก็ได้ย้ายมาอยู่ที่ จ.นครราชสีมา จนหลังจากที่คุณแม่เสียชีวิต เธอจึงย้ายไปอยู่กับคุณยายที่ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณแม่ และใช้ชีวิตเรียนหนังสืออยู่ที่นั่นจนจบชั้นมัธยมต้น แล้วจึงย้ายมาเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่ จ.นครราชสีมา คือที่โรงเรียนบุญวัฒนา และหลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปลาย เธอก็สอบติดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทำให้ต้องย้าย
มาใช้ชีวิตอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ โดยเธอต้องทำงานไปด้วยและเรียน
ไปด้วย

ส่วนเรื่อง “การทำงานจิตอาสา” นั้น เจ้าตัวบอกว่า… เธอทำมาตลอดตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ แล้ว ยิ่งในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย เธอก็ทำกิจกรรมอาสาแบบจริงจังมากขึ้น และได้เข้าชมรมค่ายอาสา ทำให้มีโอกาสได้ไปออกค่ายอาสาอยู่เรื่อย ๆ แต่หลังจากเรียนจบปริญญาตรี เธอยอมรับว่าก็เริ่มห่างหายจากการทำงานอาสา เพราะต้องหันมาทำงานหาเงิน แต่สิ่งที่ยังไม่หายไปคือ การออกเดินทางท่องเที่ยวกับรถมอเตอร์ไซค์คู่ใจ ไปในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ บี-ปารวี บอกว่าชีวิตตอนนั้นจะวน ๆ ซ้ำ ๆ แบบนี้ คือทำงาน เก็บเงิน และขี่รถท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแบบนี้อยู่สักพักใหญ่ จนมามีจุดพลิกผันของชีวิตที่ทำให้เธอคิดขึ้นมาว่า ถ้าหากสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมกับการทำงานช่วยเหลือสังคมได้ ก็คงจะดี นี่จึงทำให้เธอก้าวเข้าสู่ “เส้นทางการเป็นครูอาสา” ซึ่งทั้งไปสอนหนังสือ และนำอุปกรณ์การเรียนกับสิ่งของเครื่องใช้ไปให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งยังขาดโอกาส

’จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้คือ มีอยู่ทริปหนึ่ง ประมาณเดือน ก.พ. ปี 2563 บีเกิดอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับอยู่เบรกแตก จนทำให้เสียหลักตกเขา แต่ยังโชคดีที่ตกลงไปติดอยู่กับกอไผ่ ไม่อย่างนั้นบีก็คงตกลงไปอยู่ก้นเหวแน่นอน ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนั้นก็ทำให้บีขาขวาหัก จนต้องได้รับการผ่าตัดขาทั้งหมด 3 รอบ ต้องนอนรักษาตัวอยู่นานถึง 8 เดือน กว่าจะกลับมาเดินได้ แต่ก็ยังเดินได้ไม่ปกติเหมือนเดิม ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ชีวิตบีเปลี่ยนไปเลย จากคนที่ชอบวิ่ง ก็วิ่งไม่ได้ เคยยกของหนักได้ ก็ทำไม่ได้ ซึ่งตอนแรกยอมรับว่าเสียใจมาก แต่ก็ต้องยอมรับสภาพและอยู่กับมันให้ได้

ตอนนั้นก็ยังคงคิดเสมอว่า ถ้าหายดีแล้วเมื่อไหร่ บีก็จะกลับไปท่องเที่ยวแบบเดิมอีกครั้ง จะเรียกว่าไม่เข็ดก็ได้ แต่ที่กลัวก็คือ อาการกลัวโค้ง ซึ่งทุกวันนี้เวลาที่ขี่รถแล้วจะต้องเข้าโค้ง บีเองก็ยังกลัว ๆ เกร็ง ๆ อยู่เลย แต่ตอนนั้นก็มีความคิดเรื่องการช่วยเหลือสังคมแว็บเข้ามาด้วย โดยบีคิดว่า…ไหน ๆ เราก็คงหยุดการเดินทางท่องเที่ยวไม่ได้ แถมไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ ถ้าอย่างนั้นขอทำอะไรดี ๆ ที่มีประโยชน์บ้าง ก็เลยเป็นที่มาของการเดินทางท่องเที่ยวควบคู่ไปพร้อมกับการทำหน้าที่ครูอาสาค่ะ“ …เธอบอกถึงจุดเริ่มต้นการทำงานอาสาอีกครั้ง

หลังจากมีหมุดหมายของชีวิตในเรื่องนี้ บีบอกว่า… ก็บังเอิญที่เธอไปเจอโพสต์ โพสต์หนึ่งบนเฟซบุ๊กว่าเขากำลังหาครูอาสาไปช่วยสอนหนังสือเด็ก ๆ บนดอย เธอก็มองว่าน่าสนใจ เพราะเป็นงานกิจกรรมอาสาที่เธอเองก็ยังไม่เคยทำมาก่อน โดยภารกิจแรกของเธอคือการไปเป็นครูอาสาที่ ศูนย์การศึกษาโจ๊ะมาโลลือหล่า ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งหลังจากภารกิจการเป็นครูอาสาครั้งแรกนี้สำเร็จไปได้ด้วยดี ก็ทำให้เธอรู้สึกดี และติดใจกับการเป็นครูอาสา จึงหาข้อมูลว่ามีที่ไหนอีกที่ยังลำบาก และต้องการครูอาสา จนไปพบกับ หมู่บ้านแม่คะกลาง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนบ้านแม่เงา เธอจึงติดต่อไปเพื่อขอนำอุปกรณ์การเรียน ขนม และสิ่งของ ไปแจกเด็กที่นั่น รวมถึงเข้าไปเป็นครูอาสาสอนเด็กด้วย

และนอกจากนั้น เธอยังเล่าอีกว่า… มีอีกสถานที่หนึ่งที่ทำให้เธอเกิดความประทับใจมากสุด ๆ นั่นคือที่ หมู่บ้านโป่งแง้นต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต อีกทั้งการเดินทางไปหมู่บ้านนี้จะต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไป 2 ชั่วโมงครึ่งจนสุดทางสุดถนน จากนั้นก็จะต้องเดินทางด้วยการล่องแพต่อไปอีก 2 ชั่วโมงครึ่ง จึงจะเข้าถึงหมู่บ้าน โดยเมื่อปี  2563 ที่ผ่านมาเธอก็ได้เดินทางกลับไปที่หมู่บ้านนี้อีกครั้ง เพราะช่วงโควิดระบาดโรงเรียนเกือบทุกแห่งต้องปรับไปเรียนหนังสือแบบออนไลน์กัน ทำให้เด็ก ๆ ที่นี่ไม่ได้เรียนหนังสือเลย เพราะไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต เธอจึงตัดสินใจกลับไปที่หมู่บ้านนี้ เพื่อนำหนังสือเรียนและแบบฝึกหัดไปให้เด็ก ๆ ได้ใช้เรียนทดแทน

’การกลับไปที่หมู่บ้านนี้อีกครั้ง ทำให้เราประทับใจสุด ๆ เพราะครั้งนี้เด็ก ๆ มายืนรอบีอยู่ที่หน้าหมู่บ้าน ซึ่งบางคนก็เล่นน้ำรอ แต่พอเห็นแพของเรา เด็ก ๆ ที่ว่ายน้ำเป็นก็จะว่ายน้ำมาหาเราที่แพ ส่วนคนที่ยังว่ายน้ำไม่เป็น ก็วิ่งตามแพของเรามาจนถึงหมู่บ้าน ซึ่งเป็นภาพที่บีมีความสุขและประทับใจมาก“ …เธอเล่าถึง “ภาพประทับใจ” ที่เกิดขึ้นจากการเดินทางกลับไปช่วยเด็ก ๆ ที่นี่ โดยเธอเล่าอีกว่า… การเดินทางไปเป็นครูอาสา ทำให้มีความสุขมากกว่าการไปท่องเที่ยวเฉย ๆ และยังทำให้เธอค้นพบความสามารถใหม่ ๆ ของตัวเอง เพราะในตอนแรกนั้น เธอก็ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ แต่ก็ทำได้ในที่สุด แถมทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี ทำให้ตัวเองรู้สึกว่ามีชีวิตที่สามารถทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้…

’เราจะรู้สึกดีใจทุกครั้งที่ทำให้เด็กคนหนึ่ง จากที่เขียน ก.ไก่ ข.ไข่ ไม่เป็น สามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นอะไรที่ทำให้รู้สึกดี ทำให้เราอิ่มเอมหัวใจมาก และทำให้เราตั้งเป้าว่าจะไปทำกิจกรรมเป็นครูอาสาให้ได้อย่างน้อยเดือนละครั้ง เพราะที่ผ่านมาเราก็เที่ยวเดือนละครั้งอยู่แล้ว ถามว่าทำไมเรายังไม่หยุดเที่ยว นั่นก็เพราะการเดินทางของเราเหมือนเป็นการเยียวยาตัวเองหลังจากที่ต้องทำงานหนักมาทั้งเดือน ส่วนเวลาไปสอน บีก็จะต้องเตรียมตัว เตรียมข้อมูลเอาไว้ให้มาก ๆ และต้องวางแผนการสอนให้ดี ถามว่าทุกคนเป็นครูอาสาได้ไหม บีว่าน่าจะได้นะ เพราะบีเองก็ไม่ได้เรียนจบครูมา ซึ่งสำหรับบีแล้ว การไปเป็นครูอาสาก็เหมือนเป็นครูพิเศษที่ไปช่วยสอนเรื่องทั่ว ๆ ไปที่เด็ก ๆ เขายังไม่รู้“

สำหรับ “พาหนะคู่กาย” หรือ “รถมอเตอร์ไซค์คู่ชีพ” นั้น บีได้เล่าว่า… แน่นอนว่าการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ไปในสถานที่ต่าง ๆ นั้น รถที่ใช้ก็อาจจะต้องมีอาการชำรุดหรือเสียหายบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะส่วนใหญ่ทุก ๆ สถานที่ที่เธอเดินทางไปนั้นจะมีร้านซ่อมรถมอเตอร์ไซค์อยู่เกือบทุกแห่งอยู่แล้ว เพียงแต่เธอเองก็กลับมานั่งคิดว่า เธอก็ควรจะมีความรู้ติดตัวเอาไว้บ้างเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จึงตัดสินใจไปลงเรียนคอร์สการซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ ที่โรงเรียนสารพัดช่าง โดยเรียนประมาณ 3-4 เดือน แต่ก็ไม่ได้เรียนต่อเนื่องจนจบคอร์ส เพราะช่วงเดือนสุดท้ายที่เป็นการเรียนเกี่ยวกับระบบไฟฟ้านั้น เธอกับเพื่อน ๆ กลายเป็น กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 จึงทำให้ต้องกักตัว ก็เลยทำให้ไม่ได้เรียนต่อจนจบคอร์สฝึกอบรม

’แต่บีก็คิดเอาไว้นะว่าถ้ามีเวลาก็จะกลับไปเรียนต่อให้จบคอร์ส เพราะอยากรู้ลึกกว่านี้ เพื่อที่เวลาเดินทางเมื่อเกิดปัญหาอะไรจะได้พอช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ตอนนี้ก็พอรู้ พอทำได้นิดหน่อย เช่น รู้วิธีว่าจะตรวจเช็กสภาพรถของเรายังไงเพื่อให้การเดินทางปลอดภัย“ เธอบอกกับเราเกี่ยวกับความตั้งใจอีกเรื่อง ที่ก็ยึดโยงการไปเป็น “ครูอาสา”

ก่อนจบการสนทนากับ “บี-ปารวี โมรา” ครูอาสาสาวแกร่งคนนี้ “ทีมวิถีชีวิต” ถามเธอว่า… ’จะทำแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่?“ ซึ่งเธอได้ตอบว่า… ที่จริงคำถามนี้ก็เป็นสิ่งที่เธอตั้งคำถามกับตัวเองเช่นกัน เธอจึงพยายามนึกและมองหาคำตอบเรื่องนี้ โดยในมุมมองของเธอนั้น สำหรับบางคนอาจเลิกทำงานเมื่อความรู้สึกต้องการหมดลง ซึ่งสำหรับตัวเธอนั้น เธอคิดว่าจะยังคงทำแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะยังรู้สึกมีความสุขมาก ๆ กับสิ่งที่ได้ทำ ถึงแม้ตอนนี้ร่างกายของเธอจะเริ่มฟ้องออกมาว่า “ไม่ไหว” มาแล้วหลายครั้งก็ตาม เนื่องจากขาขวา ขาข้างที่เคยหักจากอุบัติเหตุ ยังไม่ปกติเหมือนเดิม ส่วนขาซ้ายก็มีอาการสะบ้าเสื่อม ซึ่งต้องรักษาด้วยการกินยาและฉีดยามานานแล้ว แต่ก็ยังไม่หาย จนคุณหมอแนะนำว่าคงต้องใช้วิธีผ่าตัดรักษาแล้ว…

’หากต้องผ่าตัดจริง ๆ  ก็อาจจะต้องหยุดพักกิจกรรมไปสัก 1 เดือน แต่ถ้ารักษาหายแล้ว บียังยืนยันว่า… จะยังคงกลับไปเดินทางท่องเที่ยว และขอเลือกไปทำงาน ขอเลือกไปทำหน้าที่ครูอาสา เหมือนเช่นที่เคยทำมา เพราะ… ’งานครูอาสานี้…เป็นกิจกรรมที่เรารัก“.

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.