Thailand Sport Magazine Sponsored

‘พาราลิมปิก’ โตเกียว 2020 แปลงความพิการสู่ 8 งาน ‘ศิลปะ’ – กรุงเทพธุรกิจ

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

“พาราลิมปิก” 8 ศิลปินญี่ปุ่น ถ่ายทอดหัวใจอันยิ่งใหญ่ของนักกีฬาผู้พิการไว้ในงาน “ศิลปะ” แห่งมหกรรม โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์

นับตั้งแต่ช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Organising Committees of the Olympic Games) ริเริ่มจัดทำ ภาพโปสเตอร์ เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์และโฆษณาการกีฬาและวัฒนธรรมที่มาพร้อมมหกรรมการแข่งขันกีฬาอันยิ่งใหญ่ของโลก

โปสเตอร์โอลิมปิก และ โปสเตอร์พาราลิมปิก ยังแสดงบทบาทของ ความคิดและเสียงสะท้อน ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ณ เวลานั้น ผ่านเกมกีฬาให้โลกได้รับรู้ในแต่ละช่วงเวลาที่จัดการแข่งขัน

(แถวบนจากซ้าย) อากิระ ยามะกุชิ, อาซาโอะ โทโคโละ, ชิฮิโระ โมริ, ฮิโระฮิโกะ เอรากิ, (แถวล่าง)โคจิ คากินุมะ, มิกะ นินะงาวะ, โทโมยูกิ ชินกิ, Goo Choki Par

สำหรับการแข่งขัน โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์ (Tokyo 2020 Paralympic Games) คณะกรรมการพาราลิมปิกญี่ปุ่นเชิญศิลปินชาวญี่ปุ่นร่วมสืบต่อและสร้างสรรค์ ภาพโปสเตอร์ ไว้จำนวน 8 ผลงาน ซึ่งมีแรงบันดาลใจจาก พาราลิมปิก เกมส์ ลองมาติดตามชม พวกเขาพูดถึงอะไรไว้บ้าง

ภาพโปสเตอร์ Horseback Archery

ชื่อผลงาน : Horseback Archery

ผู้สร้างสรรค์ : Akira Yamaguchi (จิตรกร)

Akira Yamaguchi (อากิระ ยามะกุชิ) เป็นจิตรกรผู้มีชื่อเสียงในการ เขียนภาพแนววัฒนธรรมญี่ปุ่นร่วมสมัย เขาตั้งชื่อผลงานภาพเขียนชิ้นนี้ว่า  Horseback Archery เป็นภาพสตรีนักยิงธนูกำลังควบม้าอยู่ในท่าเตรียมยิงธนู ซึ่งการยิงธนูบนหลังม้ายังไม่ได้รับการบรรจุไว้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก

สตรีนักยิงธนูนางนี้ทำผมและสวมใส่เครื่องแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิม ด้วยความที่ปราศจากแขนทั้งสองข้าง เธอจึงใช้เท้าข้างหนึ่งบังคับคันธนู ใช้ปากดึงลูกธนู อยู่ในท่าเตรียมยิง

ส่วนม้าในภาพเขียนนี้ก็มีลักษณะพิเศษ อากิระบรรยายไว้ว่า ม้าตัวนี้ได้รับบาดเจ็บจนกระดูกร้าว เฉพาะลำตัวม้าจึงได้รับการทดแทนด้วยกลไกของรถจักรยานยนต์ผสมกับรูปลักษณ์ของเก้าอี้ล้อเข็นคนไข้ (wheelchair)

มร.อากิระ วาดภาพนี้โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ มร.โตมิฮิโระ โฮชิโนะ (Tomihiro Hoshino) ครูสอนยิมนาสติก  วันหนึ่งในปีพ.ศ.2513 ขณะกำลังสาธิตท่าตีลังกา double somersault ให้เด็กนักเรียนระดับมัธยม เขาประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บที่คอ ส่งผลให้ร่างกายเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงคอลงไปในวัย 24 ปี นับจากวันนั้น

ต่อมาในปี 2515 ขณะพักรักษาตัว  เพื่อนซึ่งมาเยี่ยมได้วางช่อดอกไม้ทิ้งไว้ที่หน้าต่าง เป็นภาพที่สวยงามมาก การได้เห็นภาพนี้ทุกวัน ทำให้เขาสดชื่น มีกำลังใจ รู้สึกใกล้ชิดกับพระเจ้า เขาอยากอธิบายความรู้สึกอันเข้มแข็งภายในจิตใจนี้ จึงเริ่มพยายามหัดวาดรูปดอกไม้ด้วยการคาบดินสอไว้ด้วยปาก

กระทั่งในปี 2522 เมื่อผลงานมีจำนวนมากพอ ภาพวาดรูปดอกไม้ของเขาที่เกิดจากการคาบดินสอด้วยปาก ก็ได้รับการจัดแสดงเป็นนิทรรศการครั้งแรก ทุกภาพได้รับการจับจองเป็นเจ้าของขายหมดในครั้งนั้น ปัจจุบัน มร.โตมิฮิโระ อดีตครูสอนยิมนาสติกได้กลายเป็นศิลปินวาดรูปที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของญี่ปุ่น

ส่วนฉากหลังของภาพ Horseback Archery เป็นภาพวาดหมู่ตึกสูงในโตเกียวและเมืองฟุกุชิมะ (Fukushima) หลังได้รับการฟื้นฟูจากมหาภัยพิบัติสึนามิจนเกิดปัญหาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาทิ รูปนกทะเลกำลังโบยบิน ความเสียหายของหลังคาที่ถูกคลุมด้วยพลาสติกสีฟ้าเหมือนเป็นจุดหลายๆ จุดเรียงต่อกัน ถังบำบัดน้ำปนเปี้อน

ฟุกุชิมะ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการจัดการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกและจุดตั้งต้นวิ่งคบเพลิง

ภาพโปสเตอร์ Harmonized Chequered Emblem Study for Tokyo 2020 Paralympic Games

ชื่อผลงาน : Harmonized Chequered Emblem Study for Tokyo 2020 Paralympic Games

ผู้สร้างสรรค์ : Asao Tokolo (นักศิลปะ)

โปสเตอร์ภาพนี้คือตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขัน โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์ เกิดจากการวางรูปสี่เหลี่ยมหลายขนาดเชื่อมต่อกันตรงมุม ทำให้เกิดรูปรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนจำนวนมาก จากนั้นก็ลากเส้นเชื่อมจากจุดกึ่งกลางแต่ละด้านของสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ทำให้วงกลมดูมีมิติ และสวยงามมาก

การจัดวางรูปสี่เหลี่ยมแต่ละรูปทำให้เกิด ‘รูปทรง ซึ่งเป็นไปตามกฎ วางแบบนี้ย่อมเกิดรูปทรงแบบนี้ แต่การลากเส้นเชื่อมจุดกึ่งกลางทำให้เกิดมุมมองใหม่ รูปสี่เหลี่ยมหลายขนาดเป็นตัวแทนความแตกต่างของวัฒนธรรม-วิธีคิดของแต่ละประเทศ แต่ก็สามารถเชื่อมโยงกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกันได้

มร.อาซาโอะ โทโคโละ (Asao Tokolo) ตั้งชื่อรูปแบบที่เขาสร้างขึ้นนี้ว่า Kumi-ichimatsu-mon โดยศึกษาและได้แรงบันดาลใจมาจากโครงสร้างลายตารางสี่เหลี่ยมแบบญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า ichimatsu moyo (อิชิมัตสึ โมโย) คือการนำรูปสี่เหลี่ยมมาเรียงต่อกันและสามารถสร้างเป็นภาพต่างๆ ได้ไม่รู้จบ

โปสเตอร์ภาพนี้ยังพิมพ์ด้วยหมึกสีครามของญี่ปุ่นที่ทนทานต่อสภาพอากาศ

ภาพโปสเตอร์ Beyond the Curve (Five Thousand Rings)

ชื่อผลงาน : Beyond the Curve (Five Thousand Rings)

ผู้สร้างสรรค์ : Chihiro Mori (จิตรกร)

ชิฮิโระ โมริ (Chihiro Mori) เป็นศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่น อายุ 28 ปี สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Nagoya of Arts ทำงานเป็นนักออกแบบตกแต่งภายใน ช่างภาพ และกราฟิกดีไซเนอร์ในญี่ปุ่น มีผลงานจัดแสดงนิทรรศการแล้วหลายครั้ง

ภาพนี้ ชิฮิโระ ใช้สีอะคริลิควาดลงบนผืนผ้าใบ ขนาด 73 x 86 เซนติเมตร ภาพสีสันสดใสที่มีโครงสร้างซ้อนเป็นชั้นๆ ประกอบด้วยตัวแทนของ สายลม, เมืองที่เต็มไปด้วยพลังงาน และ เรือนร่างมนุษย์

ศิลปินบอกว่า เมื่อมองภาพนี้ คุณอาจรู้สึกถึงสี่แยกกลางถนนในกรุงโตเกียวอันพลุกพล่านไปด้วยจังหวะฝีเท้า แต่สัญลักษณ์ที่เธอตั้งใจใส่ไว้มากเป็นพิเศษคือ “ส่วนโค้ง” (curve) ที่โอบกอดเมืองเอาไว้ เป็นทางโค้งของสี่แยกและทางด่วนต่างๆ ที่พาดผ่านอยู่ในกรุงโตเกียว กับทางโค้งของสนามกรีฑาที่บรรดานักวิ่งต้องวิ่งผ่าน

ศิลปินบอกด้วยว่า ส่วนโค้งหรือทางโค้งยังเปรียบเสมือน “จุดเปลี่ยนของชีวิต” คุณมองไม่เห็นว่ามีอะไรรออยู่หลังทางโค้ง อาจเป็นความหวัง หรือไม่มีอะไรรออยู่ก็ได้ แต่คุณยังคงต้องก้าวไปช้างหน้าเพื่อหาคำตอบ คุณต้องผ่านทางโค้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือผู้มีร่างกายปกติ เธอจึงตั้งชื่อภาพนี้ว่า Beyond the Curve (Five Thousand Rings)

ภาพโปสเตอร์ Paralympian 

ชื่อผลงาน : Paralympian

ผู้สร้างสรรค์ : Goo Choki Par (กราฟิก ดีไซเนอร์)

โปสเตอร์ภาพนี้สร้างสรรค์ขึ้นจากนิยามคอนเซปต์การจัดการแข่งขัน “โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์” นั่นก็คือ Moving Forward (การก้าวไปข้างหน้า) ซึ่งขยายความได้ว่า ความมุ่งมาดปรารถนาของมนุษย์เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ได้ขจัดขีดจำกัดทางร่างกาย ความพิการ อีกทั้งยังก้าวข้ามขอบเขตของเชื้อชาติและเพศ

เป็นภาพโปสเตอร์ที่รวมองค์ประกอบของ ‘เค้าโครงรูปทรง’ ของผู้คนในท่วงท่าที่แสดงออกถึงความปราดเปรียว ความกระฉับกระเฉง

กราฟิกดีไซเนอร์ทีมนี้พยายามประมวลทัศนคติเชิงบวกและการกระทำของผู้คนที่มองไปในอนาคต ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพกราฟิกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของรูปทรงที่เป็นตัวแทนของความบกพร่องทางร่างกาย ความแตกต่างของเชื้อชาติ เพศ และความงดงามในจิตใจของผู้คนซึ่งยอมรับในความแตกต่างของตัวเอง โดยพยายามเอาชนะอุปสรรคที่เผชิญอยู่ ซึ่งเป็นพื้นฐานการเคลื่อนไหวของเกมกีฬานานาประเภท

ภาพโปสเตอร์ The Sky above The Great Wave off the Coast of Kanagawa

ชื่อผลงาน : The Sky above The Great Wave off the Coast of Kanagawa

ผู้สร้างสรรค์ :Hirohiko Araki (นักวาดการ์ตูนช่อง : Manga Artist)

ภาพนี้ ฮิโระฮิโกะ เอรากิ อธิบายว่า เขาจินตนาการถึง “เทพเจ้าแห่งการกีฬา” กำลังเหาะลงไปที่ประเทศญี่ปุ่นผ่านหมู่มวลก้อนเมฆที่ตั้งใจวาดให้มีเค้าโครงภาพคล้ายภาพ คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ หรือ The Great Wave off  Kanagawa  ส่วนที่ตัดสินใจยากคือการให้สีภูเขาฟูจิ ในที่สุดเขาก็เลือกใช้สีเหลืองน้ำผึ้ง

ภาพ ‘คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะเป็นภาพพิมพ์แกะไม้ กว้าง 10 นิ้ว ยาว 15 นิ้ว สร้างสรรค์โดยศิลปินชาวญี่ปุ่น คัตสึชิกะ โฮกูไซ (Katsushika Hokusai) เผยแพร่ครั้งแรกปีค.ศ.1832 ในยุคเอโดะ เป็นภาพคลื่นขนาดใหญ่ที่ถูกลมพัดเข้าใส่เรือประมงในจังหวัดคานางาวะ มีฉากหลังเป็นภูเขาฟูจิ มักมีผู้เข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้งว่าเป็นภาพของคลื่นสึนามิ ภาพจริงเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตัน ในนิวยอร์ก

ภาพโปสเตอร์ Open

ชื่อผลงาน : Open

ผู้สร้างสรรค์ : Koji Kakinuma (นักประดิษฐ์ตัวอักษร)

การประดิษฐ์ตัวอักษรมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า 3,000 ปี และเป็นเสาหลักสำคัญเสาหนึ่งของศิลปะและวัฒนธรรมชาวญี่ปุ่น

นักประดิษฐ์ตัวอักษรชาวญี่ปุ่น โคจิ คากินุมะ บอกว่า เขาสำรวจประวัติศาสตร์การประดิษฐ์ตัวอักษรมาอย่างต่อเนื่อง และพยายามค้นหาเพื่อสร้างสรรค์อักษรประดิษฐ์ที่เป็นช่วงเวลาขณะนี้ของชาวญี่ปุ่น

สำหรับตัวอักษรที่โคจิร่วมสร้างสรรค์ในโครงการศิลปะ โตเกียว 2020 โอลิมปิกและพาราลิมปิก เกมส์ เขาเลือกตัวอักษรที่มีความหมายว่า Open  (เปิด)

“ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณของคุณเปิดรับจักรวาลอันกว้างใหญ่อย่างเต็มที่ ซึ่งผมเรียกว่าการระเบิดออก ใต้อักษรภาพของผมมีถ้อยคำของนักเขียนนักทฤษฎีศิลป์ ทาโระ โอคาโมโต (Taro Okamoto) ใช้อธิบายปรัชญาของเขา ผมมีจินตนาการว่า นักกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกต้องฝึกซ้อมเพื่อให้ประสบความสำเร็จสูงสุดทุกวัน ผมจึงพูดกับตัวเองด้วยคำว่า Open open open ขณะที่ผมจรดพู่กันลงบนกระดาษ จนกระทั่งผมรู้สึกว่าตัวเอง เปิดอย่างเต็มที่”

โคจิกล่าวด้วยว่า เขาหวังว่านักกีฬาและพี่เลี้ยงนักกีฬาในญี่ปุ่นที่เดินทางมาจากทั่วโลกเพื่อร่วมมหกรรมการกีฬาอันยิ่งใหญ่ของโลกครั้งนี้ เช่นเดียวกับเราทุกคนที่ร่วมชมการแข่งขันจะเปิดใจกว้างเพื่อรับสิ่งที่เป็นไปได้ของตัวเอง เช่นนั้นแล้ว การฉลองเพื่อสันติภาพจึงจะสามารถส่งต่อไปยังคนอีกรุ่นในอนาคต

ภาพโปสเตอร์ Higher than the Rainbow

ชื่อผลงาน : Higher than the Rainbow

ผู้สร้างสรรค์ : Mika Ninagawa (ช่างภาพ / ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์)

มิกะ นินะงาวะ (Mika Ninagawa) สร้างสรรค์ภาพโปสเตอร์โดยมีภาพของ เรนชิ โชไก (Renshi Chokai) นักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลชายชาวญี่ปุ่นล่องลอยอยู่ในอวกาศ เป็นภาพที่เธอลั่นชัตเตอร์ด้วยตัวเอง

เรนชิ โชไก เกิดที่จังหวัดนางาซากิ (Nagasaki) พิการขาช่วงล่างมาตั้งแต่กำเนิด จำเป็นต้องตัดออกตอนอายุ 3 ขวบ และใช้ขาเทียมมาตั้งแต่ตอนนั้น พอขึ้นชั้นมัธยมเขาก็สมัครเป็นนักกีฬาเทนนิสทีมโรงเรียนและได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมทีมบาสเกตบอล เขาฝึกฝนอย่างหนักกับการเล่นกีฬาด้วยเก้าอี้รถเข็น

โอลิมปิกที่กรุงริโอ ปี 2016 เรนชิผ่านการทดสอบเข้าร่วมเป็นนักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทีมชาติญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลวีลแชร์ที่อายุน้อยที่สุดในปีนั้น ปัจจุบันเรนชิ อายุ 22 ปี และตั้งความหวังว่า ‘โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์เขาจะสามารถร่วมพาทีมคว้าเหรียญได้สำเร็จ

นักกีฬาที่มีความพิการนั้นเก่งจริงๆ นี่คือความหมายอันเรียบง่ายที่มิกะต้องการสื่อสารผ่านโปสเตอร์ภาพนี้

มิกะบอกว่า เห็นได้ชัดว่า การทำจิตใจให้ว่างๆ ก็สามารถทำให้เกิดงานที่สร้างสรรค์ได้ การปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติบ่อยครั้งก็เป็นแหล่งที่มาของสิ่งที่ยอดเยี่ยม

ภาพโปสเตอร์ Offense No.7

ชื่อผลงาน : Offense No.7

ผู้สร้างสรรค์ : Tomoyuki Shinki (นักวาดรูป)

โทโมยูกิ ชินกิ (Tomoyuki Shinki) อายุ 39 ปี เกิดที่โอซากะ (Osaka) เมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 และมีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น โทโมยูกิเป็นแฟนกีฬาที่เน้นการต่อสู้ปะทะกันด้วยพลกำลัง เช่น มวยสากล ยูโด มวยปล้ำ และมวยไทย ภาพวาดของเขาจึงมาจากฉากการแข่งขันจริงของกีฬาแต่ละประเภท เป็นภาพนักกีฬาที่กำลังเข้าต่อสู้กันตามเกม

ลายเส้นในภาพวาดของเขามีเอกลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้พลกำลังของมัดกล้ามเนื้อที่ใหญ่โต ความบิดเบี้ยวของร่างกาย อากัปกิริยาทุบ ดึง ชก คว้า พลิกไปพลิกมา

“ผมเลือกถ่ายทอดวีลแชร์บาสเกตบอล เพราะผมมีโอกาสชมการถ่ายทอดสดหลายครั้ง ซึ่งโดนใจผมมาก นักกีฬาซึ่งทุ่มเทเต็มความสามารถ การทำความเร็วบนวีลแชร์ที่ชวนตกตะลึง และความแข็งแกร่งของร่างกาย ทำให้เกมการแข่งขันตื่นเต้นอย่างที่สุด” โทโมยูกิ กล่าวถึงการออกแบบโปสเตอร์ครั้งนี้

ภาพโปสเตอร์ โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์ ทั้ง 8 ภาพ

ภาพโปสเตอร์ โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์ ทั้ง 8 ภาพ จัดแสดงอยู่บริเวณโถงทางเข้า Museum of Contemporary Art ในกรุงโตเกียว โดยได้รับเกียรติจากนาง ยูริโกะ โคอิเกะ (Yuriko Koike) ผู้ว่าการกรุงโตเกียว เดินทางมาเป็นประธานเปิดนิทรรศการ พร้อมศิลปินผู้สร้างสรรค์งาน

คณะกรรมการพาราลิมปิกญี่ปุ่น  นำภาพโปสเตอร์ทั้ง 8 ภาพนี้ ประยุกต์เป็นภาพบนสินค้าอีกหลายประเภท เช่น ถุงผ้า เสื้อยืด ปฏิทิน โปสการ์ด แฟ้ม สติกเกอร์ รวมทั้งผลิตซ้ำเป็น โปสเตอร์ และ โปสเตอร์ใส่กรอบ เปิดจำหน่ายให้เป็นสินค้าที่ระลึกประจำการแข่งขัน ร่วมกับ  SOMEITY  มาสคอตประจำการแข่งชัน “โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์”

*  *  *  *  *  *  *  *  *  *

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

‘โอลิมปิก 2020’ จารีต ‘เครื่องแต่งกาย’ ญี่ปุ่น ใน ‘Costume’ ผู้เชิญเหรียญ

‘ญี่ปุ่น’ รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ 78,985 ตัน ทำ ‘เหรียญ’ รางวัล ‘โอลิมปิก’ 2020

โพเดียม ‘โอลิมปิก 2020’ สวยงามมากกว่าที่ตามองเห็น

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.